ศึกอินทรชิต

บทพากย์เอราวัณ

บทพากย์เอราวัณ

ผู้แต่ง
พระบาทสมเด็กพระพุทธเลิศหน้านภาลัย
พระนามเดิม คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทร “ฉิม”

จุดมุ่งหมายในการแต่ง
สำหรับแสดงโขน

ลักษณะการแต่ง
กาพย์ฉบัง ๑๖

ลักษณะคำประพันธ์
– ๑ บทมี ๓ วรรค แบ่งเป็นวรรคแรก ๖ คำ วรรคสอง ๔ คำและวรรคสาม ๖ คำ
– ใน ๑ บท มีสัมผัสบังคับ ๑ แห่ง คือ
คำสุดท้ายของวรรคแรกสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคสอง
– มีสัมผัสระหว่างบทอยู่ที่คำสุดท้ายของบทแรกกับคำสุดท้ายของวรรคแรกของบทต่อไป

เนื้อเรื่องย่อ
อินทรชิตลูกของทศกัณฐ์กับนางมณโฑ เดิมชื่อรณพักตร์ เรียนวิชาศิลปศาสตร์ ณ สำนักฤาษีโคบุตร ภายหลังเรียนมนต์ชื่อมหากาลอัคคี สำหรับบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสามแล้ว ก็ไปนั่งภาวนาอยู่จนครบ ๗ ปี พระเป็นเจ้าเสด็จมาพร้อมกันทั้งสามองค์
พระอิศวร ประทานศรพรหมาสตร์ และบอกเวทแปลงตัวเป็นพระอินทร์
พระพรหม ประทานศรนาคบาศ และให้พรเมื่อตายบนอากาศ ถ้าหัวขาดตกลงพื้นดินให้กลายเป็นไฟบรรลัยกัลป์ ต่อเมื่อได้พานทิพย์ของพระพรหมมารองรับ จึงจะไม่ไหม้
พระนารายณ์ ประทานศรวิษณุปาณัม
ครั้งหนึ่งทศกัณฐ์ให้รณพักตร์ไปปราบพระอินทร์ เมื่อรบชนะพระอินทร์ ทศกัณฐ์จึงให้ชื่อใหม่ว่า อินทรชิต แปลว่า มีชัยชนะแก่พระอินทร์
เมื่อศึกติดลงกา อินทรชิตทำพิธีชุบศรพรหมาสตร์ แต่ไม่สำเร็จ เพราะทศกัณฐ์บอกข่าวการตายของกุมภกรรณ อินทรชิตจึงออกรบโดยแปลงกายเป็นพระอินทร์ และให้การุณราชแปลงเป็นช้างเอราวัณอันงดงามเมื่อทัพพระลักษณ์เห็นก็เคลิบเคลิ้มหลงกล อินทรชิตจึงแผลงศรนาคบาศถูกตัวพระลักษณ์และทัพวานร

ข้อมูล
หนังสือเรียนภาษาไทย ม.3 กระทรวงศึกษาธิการ
http://thaikaikog.blogspot.com/2012/04/blog-post_4874.html

โคลงสุภาษิต

บทที่ ๖ โคลงสุภาษิต พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผู้แต่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕)
แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ (พระปิยมหาราช)

ลักษณะคำประพันธ์
โคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์ เป็นโคลงสี่สุภาพ ๑๘ บท
โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ เป็นโคลงสี่สุภาพ ๑๒ บท
โคลงสุภาษิตอิศปปกรณำ เป็นร้อยแก้ว และสรุปด้วยโคลงสี่สุภาพ(เป็นสุภาษิต)มีทั้งหมด ๔ เรื่อง คือ ราชสีห์กับหนู , บิดากับบุตรทั้งหลาย , สุนัขป่ากับลูกแกะ , กระต่ายกับเต่า
ที่มาของเรื่อง
โคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์ เป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เดิมเป็นสุภาษิตภาษาอังกฤษจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กวีในพระราชสำนักแปลและประพันธ์เป็นโคลงภาษาไทย พระองค์ท่านได้ทรงตรวจแก้และทรงพระราชนิพนธ์โคลงบทนำด้วย)
โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ เป็นบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ เช่นกัน (โดยทรงแปลมาจากโคลงเดิมที่เป็นภาษาอังกฤษ)
โคลงสุภาษิตอิศปปกรณำ เป็นบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ เช่นกัน โดยทรงแปลมาจากนิทานกรีกฉบับภาษาอังกฤษ เพราะสมัยนั้นคนไทยนิยมอ่านเรื่องที่แปลมาจากวรรณคดีตะวันตกกันมาก โดยเฉพาะนิทานอีสป เพราะไม่ผูกติดกับขนบธรรมเนียมประเพณี และค่านิยมของชาติใดชาติหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแปลนิทานอีสปไว้ทั้งหมด ๒๔ เรื่อง และทรงพระราชนิพนธ์โคลงสุภาษิตประกอบนิทานร่วมกับกวีอีก ๓ ท่าน คือ กรมหลวงพิชิตปรีชากร พระยาศรีสุนทรโวหาร และ พระยาราชสัมภารากร ซึ่งรวมเรียกว่า “โคลงสุภาษิตอิศปปกรณำ”
จุดประสงค์ในการแต่ง
โคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์ และ โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ มีจุดประสงค์ในการแต่งเพื่อต้องการจะอธิบายสุภาษิตที่เกี่ยวกับนามธรรมซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เกี่ยวข้องกับคนทุกคน ทุกฐานะ ทุกอาชีพ ได้นำไปเป็นเครื่องโน้มนำให้ประพฤติชอบอย่างผู้มีสติและมีความปลอดโปร่งในชีวิต
โคลงสุภาษิตอิศปปกรณำ มีจุดประสงค์ในการแต่งเพื่อเป็นแนวทางแก่ผู้อ่านให้
พิจารณาคำสอนที่ได้จากนิทานเรื่องนั้นๆ
เนื้อเรื่อง
สาระสำคัญ
โคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางค์ กล่าวถึงสิ่งที่ควรปฏิบัติและสิ่งที่ควรละเว้น ๑๖ หมวด หมวดละ ๓ ข้อ รวม ๔๘ ข้อ ดังต่อไปนี้ว่าด้วยความสามอย่าง กล่าวถึง นักปราชญ์ได้แสดงเนื้อหาเป็นเรื่องสอนใจไว้อย่างครบครันเป็น ๑๖ หมวด หมวดละ ๓ ข้อ เพื่อเป็นแม่บทให้แก่บัณฑิตผู้ที่มุ่งความหวังความสุข ขจัดความทุกข์ และมุ่งสร้างคุณงามความดีไว้เป็นที่สรรเสริญต่อไปได้ประพฤติและปฏิบัติตาม

โคลงสุภาษิตนฤทุมการ กล่าวถึง ๑๐ ประการ ที่ผู้ประพฤติยังไม่เคยเสียใจ เพราะเป็นความประพฤติดีในไตรทวาร (กาย วาจา ใจ ) อันจะยังให้เกิดผลดีแก่ผู้ประพฤติเองและต่อสังคมส่วนรวม
๑.เพราะความดีทั่วไป ๒.เพราะไม่พูดจาร้ายต่อใครเลย
๓.เพราะถามฟังความก่อนตัดสิน ๔.เพราะคิดเสียก่อนจึงพูด
๕.เพราะอดพูดในเวลาโกรธ ๖.เพราะได้กรุณาต่อคนที่ถึงอับจน
๗.เพราะขอโทษบรรดาที่ได้ผิด ๘.เพราะอดกลั้นต่อผู้อื่น
๙.เพราะไม่ฟังคำคนพูดเพศนินทา ๑๐.เพราะไม่หลงเชื่อข่าวร้าย
ที่กล่าวมาทั้ง ๑๐ ประการนี้ แม้จะกระทำตามได้ไม่หมดทุกข้อ กระทำได้เป็นบางข้อก็ยังดี

โคลงสุภาษิตอิศปปกรณำ
๑.ราชสีห์กับหนู
มีราชสีห์ตัวหนึ่งกำลังนอนหลับอยู่ มีหนูตัวหนึ่งวิ่งขึ้นไปบนหน้าทำให้ราชสีห์ตกใจตื่นและโกรธพร้อมกับจับหนูไว้ได้และจะฆ่าเสีย แต่เจ้าหนูได้อ้อนวอนขอชีวิตไว้แล้วจะตอบแทนคุณในภายหลัง ราชสีห์หัวเราะแล้วก็ปล่อยเจ้าหนูตัวนั้นไป ต่อมาราชสีห์ถูกนายพรานจับมัดไว้ด้วยเชือกหลายเส้นส่งเสียงร้องดัง จนเจ้าหนูนั้นได้ยินมันจึงมาช่วยกัดเชือกจนขาดช่วยชีวิตราชสีห์ไว้ได้
๒. บิดากับบุตรทั้งหลาย
กล่าวถึงชายผู้หนึ่งมีบุตรที่ทะเลาะกันมิได้ขาด ผู้เป็นบิดาจะตักเตือนอย่างไรพวกเขาก็ไม่ฟัง ผู้เป็นบิดาจึงหาทางแก้ไขด้วยการสั่งให้บุตรทั้งหลายหาไม้เรียวให้กำหนึ่ง แล้วให้บุตรนั้นหักให้เป็นท่อนเล็กๆแต่พวกบุตรก็ไม่มีใครสามารถหักได้เลยสัก ผู้เป็นบิดาจึงแก้มัดไม้เรียวกำนั้นออก แล้วส่งให้บุตรหักทีละอัน ปรากฏว่าทุกคนหักได้โดยง่าย ผู้เป็นบิดาจึงสอนบุตรว่า “ หากพวกเจ้ามีความสามัคคีกันรักกันดุจไม้เรียวกำนี้ก็จะไม่มีใครมาทำร้ายพวก เจ้าได้ แต่ถ้าพวกเจ้าต่างคนต่างแตกแยกทะเลาะวิวาทกันเช่นนี้ก็จะมีภัยอันตรายได้ ก็จะเป็นประดุจไม้เรียวทีละอันที่ถูกทำลายได้โดยง่าย”
๓. สุนัขป่ากับลูกแกะ
กล่าวถึงสุนัขป่าตัวหนึ่งมาพบลูกแกะหลงฝูงตัว หนึ่ง มันคิดจะกินลูกแกะเป็นอาหาร จึงได้ออกอุบายกล่าวโทษเจ้าลูกแกะต่างๆนานา เพื่อให้ลูกแกะเห็นว่าตนมีความผิดจริงสมควรที่จะให้สุนัขป่าจับกินเป็นอาหาร แต่ลูกแกะก็ไม่ยอมรับ ในที่สุดด้วยความเป็นพาลเจ้าสุนัขป่าก็จับลูกแกะกินจนได้
๔. กระต่ายกับเต่า
กล่าวถึงกระต่ายตัวหนึ่งหัวเราะเยาะเต่าที่เท้า สั้นเดินช้า เต่าจึงท้ากระต่ายวิ่งแข่งกัน โดยให้สุนัขจิ้งจอกเป็นผู้เลือกทาง และกำหนดที่แพ้ชนะให้ พอถึงวันกำหนด ทั้งเต่าและกระต่ายก็ออกเดิน เริ่มต้นที่จุดเดียวกัน กระต่ายนั้นเชื่อมั่นว่าตนขายาวและวิ่งเร็วกว่าจึงเผลอพักหลับไป ครั้นพอตื่นขึ้นมาวิ่งไปโดยเร็ว พอถึงเส้นชัยก็เห็นว่าเต่าอยู่ที่นั่นก่อนนานแล้ว

กลอนสุภาพ

กลอนสุภาพ เป็นกลอนประเภทหนึ่ง ซึ่งลักษณะคำประพันธ์ของภาษาไทย ที่เรียบเรียงเข้าเป็นคณะ ใช้ถ้อยคำและทำนองเรียบๆ ซึ่งนับได้ว่ากลอนสุภาพเป็นกลอนหลักของกลอนทั้งหมด เพราะเป็นพื้นฐานของกลอนหลายชนิด หากเข้าใจกลอนสุภาพ ก็สามารถเข้าใจกลอนอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น
คำประพันธ์ ที่ต่อท้ายว่า “สุภาพ” นับว่าเป็นคำประพันธ์ที่แสดงลักษณะเป็นไทยแท้ ด้วยมีข้อบังคับในเรื่อง “รูปวรรณยุกต์” ในกลอนสุภาพนอกจากมีบังคับเสียงสระเป็นแบบแผนเช่นกลอนปกติแล้ว ยังบังคับรูปวรรณยุกต์เพิ่ม จึงมีข้อจำกัดทั้งรูปและเสียงวรรณยุกต์ เป็นการแสดงไหวพริบปฏิภาณและความแตกฉานในการใช้ภาษาไทยของผู้แต่งให้เด่นชัดยิ่งขึ้น
คำประพันธ์กลอนสุภาพนิยมเล่นกันมากตั้งแต่สมัยอยุธยา จวบจนถึงปัจจุบัน ในต้นรัตนโกสินทร์นั้นงานกลอนสุภาพเด่นชัดในรัชกาลที่ 2 ซึ่งเฟื่องฟูถึงขนาดมีการแข่งขันต่อกลอนสด กลอนกระทู้ ตลอดรัชสมัยมีผลงานออกมามากมาย เช่น กลอนโขน กลอนนิทาน กลอนละคร กลอนตำราวัดโพธิ์ เป็นต้น บทพระราชนิพนธ์เรื่อง เงาะป่า ก็เกิดขึ้นในยุคนี้ ยังมีกวีท่านอื่นที่มีชื่อเสียง เช่น สุนทรภู่ เป็นต้น และในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็มีปราชญ์กวีทางกลอนสุภาพที่สำคัญหลายท่านเช่นกัน
บทกวี “ศาลแห่งสีที่เคารพ” ของ “หงา คาราวาน”
“ขอเรียนศาลแห่งสีที่เคารพ สีต้องใช้ไม่ครบกระบวนสี
มีกลุ่มคนผูกขาดในชาตินี้ ยึดสีแดงไปย่ำยีเป็นของตน
ทำให้สีแดงแย่มีแต่ยุ่ง จะแต่งปรุงงานศิลป์ก็สับสน
ศิลปินเดือดร้อนเกินจะทน เพราะสีแดงถูกปล้นขโมยไป
เอาสีแดงคืนมาให้ข้าเถิด ก่อนจะเกิดสงครามห้ามไม่ได้
ทุกวันนี้พวกข้าไม่กล้าใช้ เพราะว่าใจไม่มีให้สีแดง…”

ทุกข์ของชาวนาในบทกวี

กาพย์ยานี๑๑
เมื่อครั้งเป็นนิสิต ข้าพเจ้าได้เคยอ่านผลงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ศึกษา อย่างละเอียด หรือวิเคราะห์อะไร เพียงแต่ได้ยินคำเล่าลือว่า เขาเป็นคนที่ค้นคว้าวิชาการได้กว้างขวาง และลึกซึ้งถี่ถ้วน ในสมัยที่เราเรียนหนังสือกัน ได้มีผู้นำบทกวีของจิตรมาใส่ทำนองร้องกัน ฟังติดหู มาจนถึงวันนี้
เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ
เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน
ข้าวนี้น่ะมีรส ให้ชนชิมทุกชั้นชน
เบื้องหลังสิทุกข์ทน และขมขื่นจนเขียวคาว
จากแรงมาเป็นรวง ระยะทางนั้นเหยียดยาว
จากรวงเป็นเม็ดพราว ล้วนทุกข์ยากลำเค็ญเข็ญ
เหงื่อยหยดสักกี่หยาด ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น จึงแปรรวงมาเปิบกัน
น้ำเหงื่อยที่เรื่อแดง และนำแรงอันหลั่งริน
สายเลือดกูทั้งสิ้น ที่สูซดกำซาบฟัน
ดูจากสรรพนามที่ใช้ว่า กู ในบทกวีนี้ แสดงว่าผู้ที่พูดคือชาวนา ชวนให้คิดว่าเรื่องจริงๆ นั้น ชาวนาจะมีโอกาสไหมที่จะ ลำเลิก กับใครๆ ว่า ถ้าไม่มีคนที่คอยเหนื่อยยากตรากตรำอย่างพวกเขา คนอื่นๆ จะเอาอะไรกิน อย่าว่าแต่การลำเลิกทวงบุญคุณเลย ความช่วยเหลือที่สังคม มีต่อคนกลุ่มนี้ ในด้านของปัจจัยในการผลิต การพยุงหรือการประกันราคา และการักษาความยุติธรรมทั้งปวง ก็ยังแทบจะเป็นไปไม่ได้ ทำให้ในหลายๆ ประเทศ ที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจ ชาวนาต่างก็จะละทิ้งอาชีพเกษตรกรรม ไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรม หรือการบริโภค ซึ่งทำให้ตนมีรายได้สูงกว่า หรือได้เงินเร็วกว่า แน่นอนกว่า มีสวัสดิการดีกว่า และไม่ต้องเสี่ยงมากเท่าการเป็นชาวนา บางคนที่ยังคงอยู่ ในภาคเกษตรกรรม ก็มักจะนิยมเปลี่ยนพืชที่ปลูกจากธัญพืช ซึ่งมักจะได้ราคาต่ำ เพราะรัฐบาล ก็มีความจำเป็น ที่จะต้องขยับขยายตัวให้อยู่ในสถานะที่ดีขึ้นได้ อาจแย่ลงเสียด้วยซ้ำ แล้วก็ไม่มีสิทธิ ที่จะอุทธรณ์ฎีกากับใคร ถึงจะมีคนแบบจิตร ที่พยายามใช้จินตนาการสะท้อนความในใจ ออกมาสะกิดใจ คนอื่นบ้าง แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป
หลายปีมาแล้วข้าพเจ้าอ่านพบบทกวีจีนบทหนึ่ง ผู้แต่งชื่อหลี่เชิน ชาวเมืองอู่ชี มีชีวิตอยู่ ในระหว่างปี ค.ศ. ๗๗๒ ถึง ๘๔๖ สมัยราชวงศ์ถัง ท่านหลี่เชินได้บรรยายความในใจไว้ เป็นบทกวีภาษาจีน ข้าพเจ้าจะพยายามแปล ด้วยภาษาที่ขรุขระไม่เป็นวรรณศิลป์ เหมือนบทกวีของ จิตร ภูมิศักดิ์
หว่านข้าวในฤดูใบไม้ผลิข้าวเมล็ดหนึ่ง
จะกลายเป็นหมื่นเมล็ดในฤดูใบไม้ร่วง
รอบข้างไม่มีนาที่ไหนทิ้งว่าง
แต่ชาวนาก็ยังอดตาย
ตอนอาทิตย์เที่ยงวัน ชาวนายังพรวนดิน
เหงื่อยหยดบนดินภายใต้ต้นข้าว
ใครจะรู้บ้างว่าในจานใบนั้น
ข้าวแต่ละเม็ดคือความยากแค้นแสนสาหัส
กวีผู้นี้รับราชการมีตำแหน่งเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น อยู่ในชนบท ฉะนั้นเป็นไปได้ ที่เขาจะได้เห็นความเป็นอยู่ของราษฎรชาวไร่ชาวนาในยุคนั้น และเกิดความสะเทือนใจ จึงได้บรรยาย ความรู้สึกออกเป็นบทกวีที่เขาให้ชื่อว่า ประเพณีดั้งเดิม บทกวีของหลี่เชินเรียบๆ ง่ายๆ แต่ก็แสดงความขัดแย้งชัดเจน แม้ว่าในฤดูกาลนั้น ภูมิอากาศจะอำนวยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดี แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นประโยชน์ของผู้ผลิตเท่าที่ควร
เทคนิคในการเขียนของหลี่เชินกับของจิตรต่างกัน คือ หลี่เชินบรรยายภาพที่เห็น เหมือนจิตรกรวาดภาพให้คนชม ส่วนจิตรใช้วิธีเสมือนกับ นำชาวนามาบรรยาย เรื่องของตน ให้ผู้อื่นอ่านฟังด้วยตนเอง
เวลานี้สภาพบ้านเมืองก็เปลี่ยนไป ตั้งแต่สมัยหลี่เชินเมื่อพันกว่าปี สมัยจิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อ ๓๐ กว่าปีที่แล้ว สมัยที่ข้าพเจ้าได้เห็นเอง ก็ไม่มีอะไรแตกต่างกันนัก ฉะนั้นก่อนที่ทุกคน จะหันไปกินอาหารเม็ดเหมือนนักบินอวกาศ เรื่องความทุกข์ของชาวนา ก็คงยังจะเป็นแรงสร้างความ สะเทือนใจให้แก่กวียุคคอมพิวเตอร์สืบต่อไป

สิงหาคม ๒๕๕๓

กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง

ดูหนูสู่รูงู งูสุดสู้หนูสู้งู
หนูงูสู้ดูอยู่ รูปงูทู่หนูมูทู
ดูงูขู่ฝูดฝู้ พรูพรู
หนูสู่รูงูงู สุดสู้
งูสู้หนูหนูสู้ งูอยู่
หนูรู้งูงูรู้ รูปทู่มูทู
ถอดคำประพันธ์ งู่ขู่หนูฟู่ๆ เพราะหนูจะเข้าไปในรูงู งูจึงสู้กับหนู หนูก็สู้กับงู สัตว์ทั้งสองต่างก็รู้เชิงซึ่งกันและกันโดยทำเสียงขู่ใส่กัน

คำศัพท์
มูทู หมายถึง มูทู คือ มู่ทู่ หมายถึง ป้าน , ไม่แหลม (ในที่นี้ลดวรรณยุกต์เอก)
ฝู้ หมายถึง ฝู้ เป็นรูปโทโทษของ ฟู่ หมายถึง เสียงดังเช่นนั้น คือ เสียงดังฟู่ เหมือนเสียงงูเวลาขู่
ถู้ หมายถึง เป็นรูปโทโทษของ ทู่ หมายถึงไม่แหลม

กาพย์ห่อโคลงเรื่องนี้ใช้ชื่อว่ากาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง เพราะทรงบรรยายถึง ธรรมชาติตั้งแต่ท่าเจ้าสนุกถึงธารทองแดงซึ่งเป็นธารน้ำเล็กๆ สายหนึ่งอันเป็นที่ตั้ง พระตำหนักธารเกษมมาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ที่ไดชื่อเช่นนั้นเพราะมีท่อทองแดงขนาดใหญ่สำหรับทดน้ำ ปัจจุบันธารทองแดงอยู่เขตอำเภอพระพุทธบาท จ. สระบุรี
ลักษณะการแต่งเป็นกาพย์ห่อโคลง ใช้กาพย์ยานีและโคลงสี่สุภาพสลับกัน ใจความของกาพย์และโคลงคู่หนึ่งอย่างเดียวกัน
โดยเนื้อเรื่อง เริ่มต้นกล่าวถึงบทชมริ้วขบวนการเสด็จ บทชมสัตว์บกทั้งสัตว์ใหญ่และสัตว์เล็ก บทชมนก บทชมไม้ทั้งไม้ดอกไม้ผล บทชมสัตว์น้ำ และตอนท้ายบอกนามผู้แต่ง จุดประสงค์ของกวี และวิธีอ่านโคลงให้ไพเราะ เป็นจำนวนกาพย์ทั้งสิ้น ๑๐๘ บท และโคลง ๑๑๓ บท

กาพย์เห่เรือ

บทเห่เรือเก่าแก่ที่สุดที่มีต้นฉบับตกทอดมาถึงปัจจุบัน คือพระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร หรือเจ้าฟ้ากุ้ง พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เดิมเป็นบทเห่เรือเล่น ทรงพระนิพนธ์เพื่อใช้เป็นบทเห่เรือพระที่นั่งของพระองค์เองเมื่อครั้งตามเสด็จสมเด็จพระราชบิดาไปนมัสการและสมโภชพระพุทธบาทสระบุรี ในสมัยรัตนโกสินทร์นำมาเป็นบทเห่เรือกระบวนหลวง

ตัวอย่างกาพย์เห่เรือ บทชมนก

ไตรภูมิพระร่วง

ไตรภูมิพระร่วงตอน มนุสภูมิ

รื่นเริงเพลงรำวง

รื่นเริงเพลงรำวง
วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง
เราทั้งหลายชายหญิงสนุกกันจริง วันลอยกระทง
ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง
ลอยกระทงกันแล้ว ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง
รำวงวันลอยกระทง รำวงวันลอยกระทง
บุญจะส่งให้เราสุขใจ บุญจะส่งให้เราสุขใจ
วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง
เราทั้งหลายชายหญิงสนุกกันจริง วันลอยกระทง
ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง
ลอยกระทงกันแล้ว ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง
รำวงวันลอยกระทง รำวงวันลอยกระทง
บุญจะส่งให้เราสุขใจ บุญจะส่งให้เราสุขใจ ฯ

คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล
ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน

บทเพลงข้างต้นเป็นบทเพลงสำหรับรำวง ซึ่งเป็นการละเล่นพื้นบ้านชนิดหนึ่ง เนื้อหาของบทเพลงเป็นไปในเชิงเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาว มีเรื่องราวของประเพณีที่เป็นวิถีชีวิตในวันเพ็ญเดือนสิบสองของไทย มีการชมธรรมชาติและอื่น ๆ

รำวงเป็นการละเล่นที่นิยมเล่นกันทั่วทุกภาคในประเทศไทย โดยเฉพาะในสมัยที่จอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ ๒ นั้นจะหาการละเล่นใดที่ได้รับความนิยมเกินกว่าการเล่นรำวงเป็นไม่มี นอกจากจะเล่นกันทั่วไปแล้ว รัฐบาลของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ยังมอบหมายให้กรมศิลปากรปรับปรุงท่ารำให้เป็นรำวงมาตรฐานด้วย

รำวง พัฒนามาจากการละเล่นพื้นบ้านที่เรียกว่ารำโทน แต่ยังไม่มีหลักฐานว่ารำโทนมีมาตั้งแต่เมื่อใด หรือใครผู้คิดประดิษฐ์ขึ้น มีแต่เพียงคำบอกเล่า เกี่ยวกับถิ่นที่พบรำโทน ๓ สำนวน สำนวนแรกเล่าว่า ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีการเล่นรำโทนบริเวณบ้านแพะจังหวัดสระบุรี แต่ยังไม่เป็นที่รู้จัก กันโดยทั่วไป จนกระทั่งมีผู้นำไปเล่นในจังหวัดนครราชสีมา การเล่นรำโทนเริ่มเล่นที่นครราชสีมาก่อน แล้วจึงขยายความนิยมไปยังถิ่นอื่นในภายหลัง ส่วนสำนวนสุดท้ายสันนิษฐานว่าการเล่นรำโทนมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยอ้างว่ามีการกล่าวถึงในเอกสารของชาวยุโรป

เพลงรำวงและการรำวง เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งของสังคมไทย เป็นการร้องเล่นประกอบการรำเพื่อความสนุก เนื้อร้องเป็นคำอธิบายธรรมชาติหรือพฤติกรรมที่ดีงามในสังคมและมีความหมายสร้างสรรค์ให้เป็นสังคมที่ดีงาม มีความสามัคคี มีความรักต่อกัน แม้อยู่ในช่วงสงครามและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลก็หวังให้ประชาชนมีความสุข และประพฤติตนให้อยู่ในวิถีทางที่สมควร เพื่อสร้างสังคมที่เป็นอารยะ ตัวอย่างเพลงรำวง เช่น เพลงงามแสงเดือน เพลงชาวไทย เพลงช่อมาลี เป็นต้น
การรำวง บอกให้รู้ถึงวิธีการเล่นว่าต้องมีการรำ คือต้องแสดงท่าทางที่ใช้มือและแขนเป็นหลัก และการรำนั้นผู้รำจะต้องรำเป็นวงมีเพลงร้อง และใช้เครื่องดนตรี เช่น โทน รำมะนา ดีให้จังหวะประกอบ

รำ เป็นการแสดงที่ผู้แสดงเคลื่อนไหวมือ แขน ขา และลำตัวให้อยู่ในอิริยาบทที่อ่อนช้อย งดงาม เข้ากับจังหวะดนตรี หากมีบทร้องด้วยก็
จะทำท่าทางตามถ้อยคำในบทร้องนั้น

ระบำ เป็นการรำที่มีจำนวนผู้รำมากกว่า ๒ คน เวลารำจะมีการจัดแปรเป็นแถวด้วยลีลาและลักษณะต่าง ๆ อย่างมีระเบียบสวยงาม
ฟ้อน เป็นการร่ายรำด้วยท่าทางที่กรีดกรายพร้อมกัน

เซิ้ง เป็นการร่ายรำด้วยท่าทางคึกคักตามจังหวะดนตรีพื้นเมืองของภาคอีสาน เช่น
เซิ้งกระติ๊บ เซิ้งกะหยัง

การเล่น หมายถึง การกระทำสิ่งที่ทำให้ผู้ทำเกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลินและผ่อนคลายอารมณ์ เช่น การเล่นกีฬา การเล่นดนตรี

การละเล่น หมายถึง มหรสพหรือการแสดงต่าง ๆ ที่จัดขึ้นเพื่อความสนุกสนาน รื่นเริง เช่น ลิเก ลำตัด หนังตะลุง หากมีคำว่า พื้นบ้าน หรือ พื้นเมือง ต่อท้าย จะบอกให้รู้ว่าเป็นการแสดงตามประเพณีที่นิยมกันในท้องถิ่น

รู้ตำนานสืบสานวัฒนธรรม

ประวัติประเพณีสงกรานต์
ตามจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม] กล่าวตามพระบาลีฝ่ายรามัญว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเศรษฐีคนหนึ่ง รวยทรัพย์แต่อาภัพบุตร ตั้งบ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุราที่มีบุตรสองคน วันหนึ่งนักเลงสุราต่อว่าเศรษฐีจนกระทั่งเศรษฐีน้อยใจ จึงได้บวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานอยู่กว่าสามปี ก็ไร้วี่แววที่จะมีบุตร อยู่มาวันหนึ่งพอถึงช่วงที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมน้ำ พอถึงก็ได้เอาข้าวสารลงล้างในน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงบูชาอธิษฐานขอบุตรกับรุกขเทวดาในต้นไทรนั้น รุกขเทวดาเห็นใจเศรษฐี จึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์ก็มีเมตตาประทานให้เทพบุตรองค์หนึ่งนาม “ธรรมบาล” ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี ไม่ช้าก็คลอดออกมา เศรษฐีตั้งชื่อให้กุมารน้อยนี้ว่า ธรรมบาลกุมาร และได้ปลูกปราสาทไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัย
ต่อมาเมื่อธรรมบาลกุมารโตขึ้น ก็ได้เรียนรู้ซึ่งภาษานก และเรียนไตรเภทจบเมื่ออายุได้เจ็ดขวบ เขาได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่คนทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมารว่า ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน ทันใดนั้นธรรมบาลกุมารจึงขอผัดผ่อนกับท้าวกบิลพรหมเป็นเวลา 7 วัน
ทางธรรมบาลกุมารก็พยายามคิดค้นหาคำตอบ ล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารก็ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาล เขาคิดว่า ขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหม บังเอิญบนต้นไม้มีนกอินทรี 2 ตัวผัวเมียเกาะทำรังอยู่ นางนกอินทรีถามสามีว่า พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารแห่งใด สามีตอบนางนกว่า เราจะไปกินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย ด้วยแก้ปัญหาไม่ได้ นางนกจึงถามว่า คำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามคืออะไร สามีก็เล่าให้ฟัง ซึ่งนางนกก็ไม่สามารถตอบได้ สามีจึงเฉลยว่า ตอนเช้า ศรีจะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุก ๆ เช้า ตอนเที่ยง ศรีจะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็น ศรีจะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน ธรรมบาลกุมารก็ได้ทราบเรื่องที่นกอินทรีคุยกันตลอด จึงจดจำไว้
ครั้นรุ่งขึ้น ท้าวกบิลพรหมก็มาตามสัญญาที่ให้ไว้ทุกประการ ธรรมบาลกุมารจึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ดอันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่า เราจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ถ้าจะตั้งไว้ยังแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้โลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนำพานมารองรับ แล้วก็ตัดเศียรให้นางทุงษะ ผู้เป็นธิดาองค์โต จากนั้นนางทุงษะก็อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วเก็บรักษาไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ
จากนั้นมาทุก ๆ 1 ปี ธิดาของท้าวกบิลพรหมทั้ง 7 ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเวลา 60 นาที แล้วประดิษฐานตามเดิม ในแต่ละปีนางสงกรานต์แต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์ ดังนี้
1. ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม ทุงษะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราช ภักษาหารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ
2. ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม โคราคะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดา ภักษาหารเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ)
3. ถ้าวันอังคารเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม รากษสเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต (เลือด) พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังพระยาวราหะ (หมู)
4. ถ้าวันพุธเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มัณฑาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเหล็กแหลม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา)
5. ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิริณีเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงของ้าว พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังพระยาคชสาร (ช้าง)
6. ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย)
7. ถ้าวันเสาร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มโหธรเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง)
สำหรับความเชื่อทางล้านนานั้นจะมีว่า
1. วันอาทิตย์ ชื่อ นางแพงศรี
2. วันจันทร์ ชื่อ นางมโนรา
3. วันอังคาร ชื่อ นางรากษสเทวี
4. วันพุธ ชื่อ นางมันทะ
5. วันพฤหัส ชื่อ นางกัญญาเทพ
6. วันศุกร์ ชื่อ นางริญโท
7. วันเสาร์ ชื่อ นางสามาเทวี
ตำนาน
หมายถึงเรื่องราวที่เล่าสืบทอดกันมาช้านาน มักมีเนื้อหา เกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์หรือวีรกรรมของบรรพบุรุษ อันเป็นที่มาของวัตถุหรือสถานที่สำคัญของสถานที่ของแต่ละท้องถิ่น หรือมีอีกความหมายหนึ่ง ตำนานเป็นวรรณกรรมลายลักษณ์ชนิดหนึ่ง การตั้งชื่อตำนานมี ๗ ลักษณะ ดังนี้
๑ ตั้งตามลักษณะภูมิศาสตร์ เช่น พื้นที่ หนอง บึง ทะเล ภูเขา เป็นการตั้งชื่อที่มีลักษณะเด่นชัด
๒ ตั้งชื่อโดยอาศัยข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้นๆ
๓ ตั้งชื่อโดยอาศัยนิทาน
๔ ตั้งชื่อจากชื่อบุคคล
๕ ตั้งจากชื่อของสัตว์
๖ ตั้งตามสถานที่เกิด
๗ ตั้งตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น